• Published Date: 15/12/2022
  • by: UNDP

Ocean Heroes: พลังของคนรุ่นใหม่ กับการกำจัดขยะในทะเลด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของนราธิวาส

‘นราธิวาส’ จังหวัดที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลที่การทำประมงพื้นบ้านถือเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตดั้งเดิมของพลเมืองในจังหวัดแห่งนี้ นอกจากความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบที่คาดการณ์ไม่ได้จะเข้ามากระทบวิถีชีวิตของชาวนราธิวาสแล้ว ขยะทางทะเลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาในปัจจุบันที่ทุกคนกำลังเผชิญ ทั้งขยะพลาสติกที่ลอยมาติดตามชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งคลื่นที่เปลี่ยนวิถีก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนที่นี่ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม

 

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่โครงการ Youth Co:Lab โดย UNDP ประเทศไทยได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับเยาวชนในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้ง 17 ข้อ จากรูปแบบการจัดงานที่ชวนเยาวชนจากทั่วประเทศมาทำกิจกรรมร่วมกันที่กรุงเทพฯ การใช้เทคโนโลยีพูดคุยแบบออนไลน์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือแม้กระทั่งเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมให้กับเยาวชนที่มาร่วมงาน ทั้งหมดนี้คือการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในแต่ละปีที่จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป 

 

สำหรับ โครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ UNDP ประเทศไทย ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานอีกครั้งโดยลงไปหาเยาวชนถึงในพื้นที่ และร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) พันธมิตรหลักในการทำงานของปีนี้ซึ่งเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน

 

 

ขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อไหร่จะหมดไปสักที?

Ocean Heroes ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นค่ายกิจกรรมแรกของ อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ซึ่งเริ่มมาจากประเด็นเรื่องขยะทางทะเลของจังหวัดนราธิวาส ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มชาวประมงชายฝั่งที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวซึ่งมักจะมีขยะพลาสติกลอยมาติด และสร้างปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะจากอุตสากรรมการประมง เช่น การใช้อวนที่ผิดกฎหมาย ความร่วมมือกับ UNDP ประเทศไทยในโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้จึงเป็นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จาก UNDP ประเทศไทยได้ลงสำรวจพื้นที่จริง เพื่อพูดคุย และสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Train the Triners ในช่วงเดือนมิถุนายนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสร้างทักษะการเป็นกระบวนกรให้แข็งแรงให้สามารถนำกลับมาใช้ในพื้นที่ของตนเองได้

 

เยาวชนเกือบ 100 ชีวิตจาก 19 ทีม ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการ Ocean Heroes ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากความสามารถในการรองรับเพียง 25 คน หรือ 5 กลุ่มเท่านั้น นี่อาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ที่เข้าถึงเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมได้จริง เยาวชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอายุอยู่ที่ประมาณ 16-21 ปี โดย อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้จัดกระบวนการ First Meet ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกสำหรับสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs รวมถึงการจัดการขยะทางทะเลในรูปแบบต่างๆ โดยเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปขยะจนกลายเป็นสินค้ามาให้ความรู้ และไอเดียแก่เยาวชนทุกกลุ่ม ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญสำหรับกิจกรรมในครั้งแรกนั้น คือการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาขยะทางทะเลโดยตรง หาความเกี่ยวข้องของผู้ถูกสัมภาษณ์ กับความสนใจของเยาวชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มจำแนกได้ว่า ปัญหาที่พบจากการไปพูดคุยกับคนในท้องถิ่นอยู่ในมิติไหนของ SDGs เช่น เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม จากนั้นพวกเขาต้องมาหาไอเดียสำหรับแก้ปัญหา ถามตัวเองว่าไอเดียของแต่ละทีมจะได้ประโยชน์กับใครบ้าง และพวกเขาจำเป็นต้องทำงานกับใครเพื่อให้สิ่งที่คิดไว้ให้เเกิดขึ้นจริง

 

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดถือเป็นจุดเริ่มต้นของ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมตัวนำเสนอในรอบคัดเลือกซึ่งจัดแบบออนไลน์ โดยมี UNDP อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และศึกษาธิการของจังหวัดนราธิวาสเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อดูปัญหาที่เด็กๆ ได้ไปเจอมาว่าทีมไหนมีรายละเอียดที่ลงลึกมากกว่ากัน โดยในรอบนี้จะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบเพียง 5 กลุ่มหรือ 25 คนเท่านั้น 

 

ถึงแม้จะมีเยาวชนบางคนที่ต้องผิดหวังจากการคัดเลือก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เข้าใจประเด็นปัญหาขยะทางทะเลเพิ่มขึ้น และมีกระบวนการคิดเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองต่อไปในอนาคต

 

แก้ไขปัญหา เริ่มที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากพลเมืองทุกคนที่ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว นวัตกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ควรได้รับการใส่ใจเช่นกันในฐานะหนึ่งในประดิษฐกรรมที่ประกอบสร้างชุมชนขึ้นมา หลังจากผ่านรอบคัดเลือกมาแล้ว เยาวชนทั้ง 5 ทีมจะเข้าสู่ค่าย Ocean Heroes ซึ่งใช้ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) มาเป็นกรอบคิดหลักของการดำเนินงาน โดยก่อนจะเริ่มลงมือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขาจะต้องเข้าใจขั้นตอน Empathize หรือ การเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริง ซึ่งพี่ๆ กระบวนกรจาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้พาลงพื้นที่ไปเจอกับกลุ่มชาวประมงที่ออกเรือทุกวัน เพื่อสร้างความเข้าใจในแง่มุมเรื่องปัญหาขยะทางทะเล และได้มองเห็นมิติของการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับคนในครอบครัวชาวประมงแต่ละบ้าน แล้วนำข้อมูลที่ได้กลับมาสรุป จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการนิยามปัญหาผ่านเครื่องมือเป็น Problem Tree ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะต้องมองในมุมกว้าง และต้องจัดเรียงลำดับของปัญหาให้ถูกต้อง

 

วันต่อมาพี่ๆ กระบวนกรจะเริ่มพาเยาวชนทุกคนเข้าสู่กระบวนการ หาไอเดีย (Ideate) โดยพาเด็กๆ ไปดูภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพราะนวัตกรรมท้องถิ่นเป็นไอเดียที่พวกเขาจับต้องได้ และสามารถต่อยอดออกไปในอนาคต ซึ่งเยาวชนทั้ง 5 กลุ่มได้ไปดูการทำเสื่อกระจูดที่บ้านทอน ผ้าบาติกที่อำเภอบาเจาะ และดูการทำกรงนกเขาชวา 

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง พวกเขารู้สึกว่าหนึ่งปัญหามีหลายทางออก และมีความเป็นไปได้มากมาย จากก่อนหน้านี้ที่เยาวชนส่วนใหญ่มักยึดติดอยู่กับไอเดียเดิมๆ หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพราะกลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง เมื่อมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากมาย พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกสนุกกับการแก้ไขปัญหา และลงมือสร้าง แบบจำลอง (Prototype) ของกลุ่มตัวเองขึ้นมาเพื่อถอดไอเดียให้เห็นเป็นรูปธรรม สำหรับการนำเสนอนวัตกรรมของตัวเองในวันสุดท้าย

 

สำหรับกลุ่มที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้ คือ ‘เก้าอี้แค้มปิ้งจากอวนเหลือใช้’ พวกเขาแปลงอวนจับปลาที่ถูกทิ้งให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง และเข้ากับยุคสมัย เช่นเดียวกับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งนำเสนอ ‘กระเป๋าจากอวนสาน’ โดยได้ไอเดียมาจากการเสื่อกระจูดของชาวบ้าน และใช้อวนเป็นวัสดุหลักซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกในทะเลได้จริง ส่วนกลุ่มที่คว้ารางวัลที่ 3 ไปได้คือ ‘ทุ่นดักขยะในทะเล’ ซึ่งพวกเขาใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มาจากวิทยากรในช่วงแรกของงานมาสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้น เป็นการต่อยอดอีกหนึ่งมิติที่นอกเหนือจากการีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ และช่วยลดขยะทางทะเลได้เช่นกัน

 

ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน 2 คืน เยาวชนในจังหวัดนราธิวาสจะสามารถสร้างสรรค์ไอเดียของตัวเองได้อย่างเป็นระบบขนาดนี้ และไอเดียเหล่านี้จะไม่เป็นเพียงแค่ไอเดีย เพราะทางโครงการก็ยังจะดำเนินต่อเนื่องเพื่อทำงานกับน้องๆในการพัฒนาไอเดียเหล่านี้ไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม และมีทุนต่อยอดให้น้องๆลองผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลออกมาขายต่อไป

โครงการ Ocean Heroes ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง UNDP ประเทศไทย และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ถือเป็นเพียงตัวจุดประกายเพื่อให้ทุกคนได้ไปต่อโดยใช้เครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ และการจัดการทางการตลาดซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเติมเต็มความรู้ความเข้าใจชุดนี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป 

 

การเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในฐานะพลเมืองอาจทำให้น้องเยาวชนเข้าใจปัญหา และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของตัวเอง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในทางบวกต่อพวกเขาโดยตรง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้บ้านตัวเองน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอให้พร้อมที่สุด รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความเข้าใจของคนทุกฝ่าย รู้แล้วว่านวัตกรรมไม่ใช่คำที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่รับฟังความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ เพื่อคนในพื้นที่โดยเฉพาะ

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 22/10/2019
  • by: UNDP

‘เพราะคนในพื้นที่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา’ ถอดบทเรียนจากเวิร์กชอป Training of Trainers for Social Innovation and Social Enterprise Localization

แปลจากบทความภาษาอังกฤษเขียนโดย Haidy Leung จาก ChangeFusion

 

เวิร์กชอป Training of Trainers (ToT) for Social Innovation and Social Enterprise Localization ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ ChangeFusion และมี Tandemic เป็นผู้นำกระบวนการ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน จากทั่วทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ อุดรธานี ขอนแก่น  เลย พะเยา นครศรีธรรมศรีราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

ที่มาที่ไป

เมื่อปีที่แล้ว UNDP ได้ให้ ChangeFusion จัดทำรายงานการลงทุนทางสังคมและภูมิทัศน์นวัตกรรมการเงินในประเทศไทย (Social Impact Investment and Innovative Finance Landscape Mapping Report) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาช่องว่างและโอกาสในการลงทุนทางสังคม ที่จะสามารถพัฒนาและขยายนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมออกไปในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือการสนับสนุน ‘นักสร้างการเปลี่ยนแปลง’ หรือ changemaker ในท้องถิ่น การพัฒนาแบบกระจายอำนาจ เช่น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะในพื้นที่ (local incubation hub) และการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคมที่เน้นแฟ้น จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์รวมในประเทศเร็วขึ้น และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) บรรลุผลได้ตั้งแต่ในระดับรากหญ้า

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีโครงการบ่มเพาะ (social incubation program) เกิดขึ้นมาจำนวนมาก แต่การจัดกิจกรรม การสนับสนุน การให้ความรู้ หรือการรวมตัวกันในด้านนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ระยะทางยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนที่มีความสามารถในจังหวัดอื่น ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าร่วม นอกจากนี้ เนื้อหาหรือการดำเนินกระบวนการบางอย่างที่ใช้ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้กับบริบทของพื้นที่อื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม  ยังมีข้อมูลความรู้ วิธีการ และกระบวนการดี ๆ อีกมากจากผู้บ่มเพาะในปัจจุบันที่สามารถแบ่งปันกับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ก่อนที่จะจัดเวิร์กชอป ToT ในครั้งนี้  UNDP ได้นำองค์กรที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการบ่มเพาะทางสังคม ทั้ง ChangeFusion School of Changemaker SEED Good Factoty และอื่น ๆ อีกมากมายมาเจอกัน เพื่อแสดงความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึก วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านั้นก็ได้ถูกรวบรวมออกมาเป็น ‘The Social Incubation Playbook’ และนำมาใช้ในเวิร์กชอปเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบการพัฒนาโครงการบ่มเพาะของผู้เข้าร่วมแต่ละคน

 

 

เกิดอะไรขึ้นใน 3 วันของการเวิร์กชอป?

วันที่ 1:

เริ่มต้นจากพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ผู้เข้าร่วมเรียนรู้การประมวลผล วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ที่จะรับการบ่มเพาะ) เพื่อทำความเข้าใจถึงแรงบันดาลใจในชีวิตและความต้องการที่แท้จริงของเขา


 

วันที่ 2:

หลังจากที่ได้โจทย์ปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ผู้เข้าร่วมก็เรียนรู้วิธีการะดมสมอง คิดไอเดีย และพัฒนาต้นแบบจำลอง (prototype) โดยมีการใช้การเล่นบทบาทสมมติ (Role Play) เพื่อทดสอบต้นแบบของแต่ละทีม

 

วันที่ 3:

ผู้เข้าร่วมได้ทดลองออกแบบแผนโครงการให้มีความยั่งยืน รู้จักวิธีการหารายได้ การสื่อสาร และการวัดผลกระทบทางสังคม ตามด้วยการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคนได้อย่างไร

 

สิ่งที่เราได้เรียนรู้และเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

 

1. กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปสนับสนุนและบ่มเพาะในพื้นที่อาจเป็นได้ทั้งนักกิจกรรมสังคม นวัตกรสังคม ผู้ประกอบการทางสังคม หรือทั้ง 3 แบบรวม ๆ กันก็ได้

ทุกคนมีอิสระในการเลือกกลุ่มเป้าหมายของตนเองตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะบ่มเพาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญ หรือไม่เคยมีประการณ์ในด้านนั้น ๆ มาก่อน ก็ต้องหาความร่วมมือจากผู้ที่จะช่วยเราได้ เช่น หากต้องการบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม แต่พื้นหลังความถนัดของเราเป็นนักกิจกรรมสังคมมาโดยตลอด เราอาจต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดไป


 

2. เครื่องมือที่รวมรวบมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริง

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พบว่าเครื่องมือที่ช่วยสกัดข้อมูลเชิงลึกมีประโยชน์มากกับการทำงานพัฒนา เนื่องจากมันทำให้เข้าใจทั้งความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ขึ้น ซึ่งโดยมากก็จะเป็นกลุ่มเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ที่สอนในเวิร์กชอปยังช่วยในการสะท้อนสิ่งที่ทำ กับเป้าหมายการสร้างการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่


 

3. ต้องนำเครื่องมือไปปรับใช้และลองทำซ้ำไปวนมาบ่อย ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

การใช้เครื่องมือใน playbook ให้ได้ผล ผู้ใช้ต้องรู้จักเอาไปทดลองทำบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา และค่อย ๆ ปรับให้เหมาะกับความต้องการ เพื่อที่จะหาวิธีการพัฒนาที่มีประสิทธิมากที่สุด

 

4. มีโอกาสอย่างมากที่จะจัดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (cross-learning session) กันได้ในอนาคต

แม้ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้จะมาจากหลากหลายพื้นที่ มีที่มาที่ไปที่ต่างกัน แต่ว่าแต่ละคนก็มีประสบการณ์และพบเจอปัญหาที่คล้ายกันหลายอย่าง เพียงแค่ต่างบริบทกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตใกล้กับประเทศลาวและเวียดนาม กับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคลายคลึงกันในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน เป็นต้น ผู้เข้าร่วมเห็นว่าเป็นการดีที่จะจัดเวิร์กชอปขึ้นอีกครั้งเพื่อติดตามผลหลังจากที่แต่ละคนได้ลองกลับไปประมวล ทดลอง และริเริ่มโครงการของตัวเอง เพื่อนำกลับมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้นั้น และหาโอกาสในการทำงานร่วมมือกันระหว่างภูมิภาค

 

Keywords: , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779