• Published Date: 20/08/2020
  • by: UNDP

กักตัวช่วงโควิด-19: เมื่อปลอดเชื้อไม่ได้ปลอดภัยจากความรุนแรง

          

     ในขณะที่บ้านเป็นนิยามของความสงบสุขทั้งทางกายและทางใจของใครหลายๆ คน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด บางคนสะสมความเจ็บปวดกับทั้งทางกายและทางใจที่ต้องอยู่ที่บ้าน

         ในช่วงโควิด-19 ที่มีรณรงค์และออกมาตรการให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อนั้น ทำให้คนที่หรือเลี่ยงที่จะอยู่ด้วยกันต่อเนื่องเป็นเวลานานจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันยาวขึ้นอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก

         หนำซ้ำความเครียดจากผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมากับโควิด-19 ทั้งการตกงาน เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งและทำให้สถานการณ์บานปลายได้ง่ายๆ

         การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า 10.87% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

  ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งที่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ และกับตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยความรุนแรงในครอบครัวครอบคลุมถึงการกระทำที่มุ่งให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวหรือใช้อำนาจให้บุคคลในครอบครัวกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างโดยมิชอบ ซึ่งผลลัพธ์จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

 

โรคระบาด ระบาดพร้อมความรุนแรงในครอบครัว

ในประเทศจีนอย่างมณฑลหูเป่ย ที่ที่เป็นต้นกำเนิดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้พบว่าได้รับรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากปีก่อน อีกทั้งหลังการกักตัวสิ้นสุดลง มีคนหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีไวรัสแพร่ระบาด

แนวโน้มสถิติในทิศทางเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ในเมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์ก มีการโทรแจ้งสายด่วนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน  ด้านแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่วนในประเทศไซปรัส จำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ

นอกจากนี้ UNICEF ระบุว่าอัตราการแสวงประโยชน์และความรุนแรงต่อเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปีช่วงปี 2557-2559 ที่เชื้อไวรัสอีโบล่าระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่ามีจำนวนแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ โดยประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด

เมื่อดูสถิติความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจากบทความของ TDRI ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวพบว่า สถิติการโทรเข้าสายด่วนในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 103 ราย ซึ่งลดน้อยลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 155 ราย ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขการโทรเข้าสายด่วนที่ลดลงอาจไม่ได้สะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นกับความรุนแรงในครอบครัว แต่อาจยิ่งน่ากังวลเพราะผู้เสียหายโดยตรงมักไม่ใช่ผู้ที่แจ้งเหตุเอง เมื่อไม่ได้ออกจากบ้าน จึงไม่มีใครรับรู้ถึงสถานการณ์และไม่ได้แจ้งเหตุ ส่วนตัวผู้เสียหายเองก็มีข้อจำกัดด้านการออกจากพื้นที่จึงทำให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้ยากขึ้น รวมไปถึงการตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่สำคัญในการเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

 

กักตัวอยู่ในบ้านและต้นเหตุของความรุนแรง

แท้จริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวจากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมว่า ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 พบผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 5 คนต่อวัน

         ในบ้านที่มีเคยเผชิญปัญหาเช่นนี้มาก่อนหน้า โควิด-19 จึงเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น บางบ้านยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่บังคับให้ทุกคนต้องเผชิญหน้ากันตลอดเวลา แต่สำหรับบางบ้านที่ไร้ปัญหาในสภาวะปกติ ความเครียดที่เกิดจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 เช่นการตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน

         ดังครอบครัวของนางสาวเอ ที่ขึ้นพูดในงานที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิก้าวไกลและสสส.ว่า ช่วงโควิด-19 บริษัทไม่มีโอทีจึงทำให้รายได้ลดลง สถานการณ์การเงินย่ำแย่ ตนต้องไปหยิบยืมจากเพื่อนหรือหาเงินกู้ หากไม่สำเร็จสามีจะเมาและทำร้าย ในช่วงแรกเธอทนกับสภาพเช่นนั้น ปัจจุบันเอเข้าถึงความช่วยเหลือจากมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในต้นเหตุที่มองข้ามไม่ได้คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ให้สัมภาษณ์กับ Sanook.com ไว้ว่าโครงสร้างสังคมไทยที่ให้อำนาจกับชายในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่เพศหญิงต้องแบกความคาดหวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และต้องขยันทำมาหากิน เมื่อภาพเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นสถานะที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด อีกทั้งเมื่อมีปากเสียงและเริ่มลงไม้ลงมือเพศหญิงมักสู้ได้ยากกว่าจากลักษณะทางกายภาพ

ด้านรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แม้ดูเหมือนจะตระหนักว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างช่วงกักตัว แต่มาตรการที่รัฐออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจและการหากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อหลีกหนีความขัดแย้ง เช่น แนะนำให้การทำอาหารร่วมกัน และทำกิจกรรมผลิตหน้ากากผ้า เป็นต้น

แม้จะมีช่องทางสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ให้บริการอยู่ ด้าน บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง Shero ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวให้ความเห็นผ่าน adaymagazine.com ว่าสายด่วนนี้ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น คนไร้บ้าน และการค้าแรงงานมนุษย์ด้วย จึงอาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงการให้บริการ

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว

      ไม่มากนักที่ผู้ถูกกระทำจะเข้าไปขอความช่วยเหลือโดยตรง สอดคล้องกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยึดถือคติ “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” จึงทำให้ไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง หรือบางครั้งต่อให้ผู้เสียหายกล้าหาญตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเองกลับเป็นผู้เสนอให้ไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ในลักษณะเดิมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่าและแทบไม่มีวันสิ้นสุดลง ด้านคนนอกครอบครัวที่พอรับรู้เหตุการณ์ บางก็ไม่ได้ปฏิบัติใดๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นการก้าวก่ายเรื่องผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม เพราะครอบครัวคือพื้นฐานของสังคม และผู้เชี่ยวชาญหลายรายมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความรุนแรงส่งผลต่อผู้เสียหายทั้งทางใจและทางกายในระยะยาว อีกทั้งยังอาจซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้นและเป็นผู้ใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบถึงคนวงกว้างได้ ประเด็นนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องของสังคม

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เพื่อให้การคุ้มครองและจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับความรุนแรงได้โดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ ด้านพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาผู้กระทำได้ทันที สิ่งนี้จึงเป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่คือเรื่องของทุกคน

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/topics/cr50y65y3v9t

https://news.thaipbs.or.th/content/295351

https://tdri.or.th/2020/04/domestic-violence-victims-during-covid19/

 https://thediplomat.com/2020/04/chinas-hidden-epidemic-domestic-violence/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808864

https://www.sanook.com/news/8079155/

 https://www.prachachat.net/general/news-444654

https://www.freepik.com/premium-photo/depressed-despair-anxiety-young-man-sitting-alone-home-mental-health-men-health-concept_7190107.htm

Keywords: , , , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779