• Published Date: 27/09/2019
  • by: UNDP

เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้?

 
เมื่อได้ยินคำว่า ‘นวัตกรรม’ หรือโดยเฉพาะ ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ การบริการภาครัฐ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่จริง ๆ แล้ว นวัตกรรมสังคม ไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น แต่หมายความกว้างไปถึงสิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อหวังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสังคม (systemic change) ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงด้วย

สำหรับคนในพื้นที่ขัดแย้ง ‘นวัตกรรม’ หรือ ‘การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวและแยกส่วนจาก ‘การสร้างสันติภาพ’ แต่จากการศึกษาและถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์ของสถาบัน Agirre Lehendakaria Center for Social and Political Studies (ALC) ซึ่งนำโดย Gorka Espiau พบว่าประเด็นการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน การใช้นวัตกรรมสังคม หรือการสร้างพื้นที่กลาง (Platform) นวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งสามารถช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเกิด ‘สันติภาพ’ ได้ เพราะสันติภาพไม่ได้หมายเพียงถึงสถานการณ์ที่ปราศจากความรุนแรง แต่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ รวมถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย หรือรวมเรียกว่าเป็น “สันติภาพที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Peace”  

 

 
UNDP ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ Gorka Espiau และ Iziar Moreno ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมจากแคว้นบาสก์ ในการแนะนำกระบวนการทำงานของนวัตกรรมสังคมให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส)  และออกแบบแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมร่วมกันกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพ โดยการเดินทางไปยังภาคใต้ของเราในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากความอยากรู้และอยากทดลองว่าแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมจะสามารถกลายเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ และมันจะสามารถเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาในหลายๆ มิติเข้าด้วยกันได้อย่างไร

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างในเวิร์กชอป

 

1. แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแคว้นบาสก์

Gorka ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในแคว้นบาสก์ พื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจของ แคว้นล่มสลาย หากในปัจจุบันบาสก์กลับมี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในยุโรปและเป็นยังผู้นำเรื่องด้านศึกษาอีกด้วย ความสำเร็จด้านการพัฒนาของแคว้นบาสก์นี้ได้รับขนานนามว่าคือ Basque Transformation หรือการแปรเปลี่ยนแคว้นบาสก์ให้กลายเป็นเมืองแห่งการพัฒนา

การเรียนรู้จากแคว้นบาสก์สามารถสรุปได้อย่างคร่าว ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประชาชนในบาสก์มี ‘เป้าหมายร่วมกัน’ คือปรารถนาจะลบภาพ ‘สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง’ ออกจากความเป็นแคว้นบาสก์ และต่างเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างการเชิญ Frank Gehry มาสร้าง Gugenheim Bilbao ให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง การก่อตั้งสหกรณ์คนทำงานอย่าง Mondragon หรือที่กลุ่มเชฟในพื้นที่ดึงเอาอาหารและวัตถุดิบพื้นเมืองมาประยุกต์ในสไตล์โมเดิร์น ฝรั่งเศส จนได้รับการยอมรับจากมิชลิน  และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย กลายเป็นฟันเฟืองที่เชื่อมโยงกันและส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของแคว้นพัฒนาอย่างรุดหน้า จนฝ่ายกองกำลังสู้รบ  Euskadi ta Askatasuna หรือ ETA ตัดสินใจวางอาวุธ นำไปสู่สันติภาพในท้ายที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง การถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์อย่างละเอียดได้ในบทความของเราต่อไป  

 

 

2. ลองเชื่อมโยงสิ่งใหม่ ๆ’ ที่เราได้ทำในพื้นที่

ผู้เข้าร่วมได้ลองช่วยกันคิดว่ากิจกรรม โครงการ กระบวนการที่เราเคยได้เพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเองมีอะไรบ้าง โดยมีการคิดอย่างครอบคลุม 5 ระดับ

    1. กิจกรรมชุมชน (community actions) เช่น การนั่งหารือกันในมัสยิด จนได้ข้อสรุปเป็นการรับบริจาคขยะ แทนการรับบริจาคเงิน และนำไปขายเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า

    2. วิสาหกิจขนาดเล็กกลาง (small-medium scale entrepreneurship) เช่น การก่อตั้ง Fiin Delivery บริการส่งอาหารในพื้นที่

    3. วิสาหกิจขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน (large scale public-private partnership) เช่น ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ

    4. การบริการสาธารณะ (public service) เช่น การจัดรถพยาบาลในหมู่บ้านเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง

    5. กฎระเบียบใหม่ ๆ  (new regulation) เช่น กฎฌาปนกิจที่เป็นข้อตกลงในหมู่บ้านเรื่องการขอความร่วมมือทุกคนร่วมช่วยเหลือการจัดงานศพเมื่อมีคนเสียชีวิต

การได้คิดอย่างเป็นระดับนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวและเริ่มที่จะมีภาพที่เห็นร่วมกันว่าแท้จริงแล้วนวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวพวกเขา หากแต่เป็นสิ่งที่อาจทำอยู่แล้วในชุมชน

 

“การพัฒนาอย่างยื่งยืนในพื้นที่ขัดแย้งมันเกี่ยวข้องกับวิธีที่เราเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งอาจถูกซ้อนเร้นโดยความขัดแย้งและความรุนแรง และวิธีการที่เราจะคิดขึ้นมาเป็นทางเลือกในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

3. เรียนรู้ที่จะรู้จัก ฟัง’ 

กระบวนการแรกที่มีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ “กระบวนการรับฟัง”

เราต้อง ‘ฟัง’ ในสิ่งที่อาจไม่ถูกพูดออกมาเพื่อค้นหาสาเหตุของการกระทำ ความเชื่อ และคุณค่าเบื้องหลัง และเชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ที่สำคัญคือการค้นหาว่าคนในชุมชนเชื่อในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความเชื่อนี้สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาได้ เช่น บางชุมชนที่แม้อาจได้รับการสนับสนุนมากมายจากรัฐ แต่คนในชุมชนไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเลยเพราะได้ถูกสั่งสอนมาว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้ออกไปทำงานที่เมืองหลวงเท่านั้น ในทางกลับกัน หากชุมชนใดมีความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ก็จะแสวงหาโอกาสจากต้นทุนที่มี เช่นอาจให้มีคนมาเปิดกิจการเล็ก ๆ ในพื้นที่และเริ่มหาโอกาสแก้ไขปัญหาการว่างงาน เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ความสำคัญของการรับฟังนี้ พร้อมคิดทบทวนว่าประเด็นใดบ้างที่เป็นความท้าทายและโอกาสในพื้นที่ และเชื่อมโยงประเด็นเหล่านั้นด้วยกัน

 

4. Co-creation ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมทำ

ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสทดลองออกแบบและคิดไอเดียนวัตกรรมสังคมร่วมกัน เพื่อนำไปลงมือทดลอง (prototype) ต่อไป

กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนนี้คือกระบวนการสำคัญที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญของการ co-create คือต้องมีคนจากทั้ง 5 ระดับที่กล่าวไปข้างต้นเข้าร่วมด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือระบบได้จริง

ตัวอย่างไอเดียและเรื่องราวน่าสนใจจากคนในพื้นที่

    • การเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว เป็นประเด็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมหลายคนเห็นพ้องต้องกันในการต่อยอดการพัฒนา ทุกคนมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตน แต่ยังไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของพื้นที่ไม่ดี ส่งผลให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจเกิดความกลัวที่จะเข้ามา ในขณะเดียวกันสามจังหวัดเองก็มีคนที่มีความสามารถหรือกิจกรรมน่าสนใจจำนวนมากแต่กลับ ไม่ได้รับการนำเสนอออกไปในสื่อเท่ากับภาพความรุนแรง

    • ผู้เข้าร่วมเห็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เช่น ลองกอง ทุเรียน ไปจังหวัดหรือประเทศข้างเคียง ในจังหวัดนราธิวาส ประชาชนมีรายได้หลักจากการกรีดยาง ซึ่งทางการพยายามส่งเสริมให้คนปลูกพืชผักผลไม้อื่นเพื่อให้มีแหล่งรายได้เพิ่มเติม หากแต่การกรีดยางถูกมองว่าเป็นวิถีชีวิตที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคนในท่องถิ่นก็ยังคงอยากรักษาความรู้และวัฒนธรรมนี้ไว้ จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ และให้การแก้ปัญหาของภาครัฐตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง?

    • ผู้เข้าร่วมเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่เช่นการทำเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดให้ต่อเนื่องกัน และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในแบบที่ชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย

    • ในบางพื้นที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนท้อแท้และสิ้นหวัง ทำให้ยากที่จะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ใด ๆ นักกิจกรรมสังคมหลายคนก็หยุดการเคลื่อนไหวการทำงานพัฒนาต่าง ๆ มีการเสนอแนวคิดการตั้ง PeaceLab ขึ้นในพื้นที่ และปรับใช้เทคโนโลยีและสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

 

เครื่องมือสำหรับกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคม (Tools used for building social innovation platform)

 

 

3 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง

 

1. การฟังและสะท้อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการที่เราได้ฟังบุคคลจาก “ทุกภาคส่วน” และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถฟังบุคคลที่มาจากต่างพื้นฐาน ต่างประสบการณ์ ต่างอาชีพ แต่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน มาพูดถึงเมืองของเราผ่านคนละมุมมอง ซึ่งเวิร์กชอปในครั้งนี้ เราก็มีผู้เข้าร่วมมาจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำชุมชน กลุ่มธุรกิจ Startup และภาคประชาสังคม

เริ่มจากคำถามที่ว่า “หากเราจะอธิบายจังหวัดปัตตานี/ยะลา/นราธิวาส ให้กับคนที่ไม่รู้จักฟัง เราจะเล่าถึงจังหวัดเราว่าอย่างไร?” คำตอบของแต่ละคนก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในพื้นที่

เราได้รับฟังเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากมุมมองที่ต่างกัน และในความต่างนี้เอง เรากลับพบความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ นั่นคือ พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันด้วยความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของพื้นที่ ทั้งมุสลิม พุทธ จีน และเขารู้สึกว่าแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ยังอยู่ร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรจากพื้นที่เดียวกันได้ เป็นสเน่ห์ของคนสามจังหวัด ดังที่สะท้อนได้จากคำพูดหนึ่งของบทสนทนาที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดคือ “กิจศาสนาเราแยกกันทำ กิจสังคมเรามาร่วมกัน”

 

 
หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคำถามที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง “คุณคิดว่ามีปัญหาอะไรในพื้นที่ ที่คนในจังหวัด ไม่เคยพูดถึง แต่รู้สึกว่ามันมีอยู่” บทสนทนาที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่ได้มองเห็นภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแค่ผิวเผินตามภาพจำที่มีแต่ความรุนแรง กลับทำให้เราได้เห็นภาพความเชื่อมโยงทางมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการร้อยเรียงของปัญหาตั้งแต่ต้นตอจนถึงปลายทาง

จากการสังเกตบรรยากาศในวงสนทนา เราพบว่าการมีพื้นที่รับฟัง ให้แต่ละคนได้เล่าถึงความรู้สึกนึกคิด และประสบการณ์ของตัวเองในจังหวัด ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกระบวนการ และก้าวข้ามการด่วนตัดสินและสรุปวิธีการแก้ปัญหาโดยทันที เปรียบเสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาผ่านเรื่องราวต่าง ๆ  โดยสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนกรคือต้องวางใจเป็นกลาง เปิดพื้นที่ให้เป็นภาชนะว่าง ๆ ที่รองรับเรื่องเล่าต่าง ๆ โดยไม่สรุปและตัดสิน

นอกจากนี้ กระบวนการสะท้อนหลังจากฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ และนำมาเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ผ่านแผนภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน จุดประสงค์ในการทำขั้นตอนนี้ ไม่ใช่การเร่งรัดสรุปปัญหา แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพสะท้อนความเชื่อมโยงของสิ่งที่ตัวเองเล่ามา โดยกระบวนกรไม่จำเป็นต้องกังวลว่าลูกศรที่ลากเชื่อมเรื่องราวในแผนภาพจะถูกหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีส่วนที่ผิด มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แก้ไขให้ถูกต้อง กระบวนการทำและแก้ไขแผนภาพนี้เป็นกระบวนการร่วม คือผู้เล่าทุกคนทำร่วมกัน เพื่อให้เรื่องเล่าของทุกคนมาอยู่ในภาพเดียวกันได้

 

 

2. จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากความเชื่อร่วมกันว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้”

กระบวนการรับฟังไม่ควรเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ควรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ให้เราทำความเข้าใจแล้ว ทำความเข้าใจอีก ซึ่งจะนำไปสู่การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องจับใจความให้ได้ก่อนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงคือ ต้องตอบให้ได้ว่า “คนในพื้นที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้หรือไม่” 

คำถามนี้ดูเป็นคำถามที่ง่าย แต่การแน่ใจว่าคำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบที่ “จริงแท้” จากใจผู้เข้าร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะในพื้นที่ที่เผชิญกับความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ทุกวัน ผู้คนมักถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และการใช้ชีวิตในเชิงบวกไปมากโขอยู่เหมือนกัน คำตอบแรกของเขาอาจจะเป็นคำว่า “ใช่ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้” แต่อาจจะตามมาด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อความเป็นไปได้ว่าจะก้าวข้ามเงื่อนไขเหล่านั้นได้หรือไม่

 

 
“แล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ล่ะ เราจะทำอย่างไร?”  การหันไปโฟกัสการสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ‘เป็นไปได้’ (หรือแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาก็กำลังทำมันอยู่) คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่สำคัญในการประเมินพื้นที่ กับท่าทีการไปต่อ ทำให้เราส่งเสริมการพัฒนาอย่างไม่ข้ามขั้น และค่อย ๆ ทำมันอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงแบบ “Transformative Change” จะเกิดขึ้นได้ จากความเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ของคนในพื้นที่ และความเชื่อนั้นจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ในระดับปัจเจกบุคคล แต่จะส่งผลต่อระดับองค์กร และระดับพื้นที่ต่อไป การหมั่นตรวจสอบความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนจะข้ามไปสู่ขั้นตอน “Co-creation” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

 

3. การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องมาจากคนในพื้นที่ 

ในสามวันนี้ หลังจากที่เราได้ลองทำกระบวนการตั้งแต่ Listening-Co-creation-Prototype ทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาและโอกาสในพื้นที่ เราได้สิ่งที่น่าสนใจที่น่าต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ เช่น เรื่องอาหาร และวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม การไปต่อในขั้นต่อไป ในฐานะกระบวนกร เราอาจจะต้องก้าวถอยหลังมาหนึ่งก้าว เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ได้ตีความและสรุปด้วยความเข้าใจของเขาเอง

ถึงแม้ว่าในฐานะกระบวนกร เราอาจจะมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือมากกว่า การตีความอาจจะง่ายกว่ามากหากกระบวนกรเป็นผู้สรุปความเชื่อมโยง ปัญหา โอกาส ความเป็นไปได้ และชี้นำทิศทางที่ผู้เข้าร่วมควรทำ แต่การสรุปแบบนั้นอาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนความจริง เนื่องจากเป็นการตีความและสรุปให้ความหมายโดยคนนอกพื้นที่

 

 
ในกระบวนการสร้าง “Transformative Change” การขับเคลื่อนโดยคนในพื้นที่และตีความร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และแน่นอนว่ามีความซับซ้อนกว่ามาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องออกจากความคุ้นชินในการเร่งตัดสิน เร่งด่วนสรุป และเปิดพื้นที่ในการตีความร่วมกันให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าใน 3 วันนี้ คนในพื้นที่อาจจะยังไม่สามารถตีความ เชื่อมโยงและสรุปร่วมกันได้ในทันที แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้เริ่มรู้จักวิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะมาใช้ในกระบวนการสันติภาพ และเราเชื่อว่ากระบวนการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ เช่นเดียวกับที่สุดท้ายแก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นไม่ใช่เพียงการทำงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย 17 ข้อเพียงย่างเดียว แต่ คือการพัฒนาโดย “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้อาจจะใช้เวลามากกว่าเดิม ซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม แต่ก็จะทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

นวัตกรรมเพื่อสังคมควรเป็นตัวกลางที่นำผู้คนมารวมกันเพื่อให้เกิดเป้าหมายและภารกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนา ในฐานะชุมชนท้องถิ่น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญและเชื่อมโยงมันกับโอกาสและแนวคิดใหม่ ๆ 

 

แผนภาพสรุปความเชื่อมโยงจากเวิร์กชอป (Mapping of the output from workshop)

 

 
ที่สำคัญที่สุด การเวิร์กชอปเพื่อร่วมสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในสามจังหวัดครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมทุกคน ขอยกย่องความดีความชอบให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่จาก

จังหวัดปัตตานี : ตำบลท่าน้ำ ตำบลบ้านนอก ตำบลน้ำบ่อ ตำบลเตราะบอน
จังหวัดยะลา : ตำบลลำใหม่ ตำบลบ้านแหร ตำบลบันนังสตา
จังหวัดนราธิวาส : ตำบลแว้ง ตำบลช้างเผือก

รวมทั้งตัวแทนสตาร์ทอัพ ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยจากทุกจังหวัด

    • CHABA Startup Group
    • Sri Yala MyHome
    • PNYLink
    • Digital4Peace
    • Saiburi Looker
    • HiGoat Company
    • MAC Pattani
    • MAC Yala
    • MAC Narathiwat
    • Hilal Ahmed Foundation
    • CSO Council of Yala
    • มูลนิธินูซันตารา
    • มหาวิทยาลัยทักษิน
    • สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Keywords: , , , , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779